3 อาชีพตรงสายเด็กกฎหมาย สาย กฎหมายธุรกิจ

Table of Contents

     ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เราจะเห็นว่ามีธุรกิจจำนวนมากที่นำความก้าวล้ำของเทคโนโลนีเข้ามาผสมผสานควบรวมด้วย และเนื่องจากเทคโนโลยีมีแนวโน้มที่จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในทุกแง่มุมของชีวิตและเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ตลาดแรงงานจึงมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญที่เข้าใจประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับเทคโนโลยีและธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เมื่อตระหนักถึงความต้องการแรงงานในด้านนี้ที่มีเพิ่มมากขึ้น มหาวิทยาลัยและโรงเรียนกฎหมายหลายแห่งจึงได้มีเปิดสอนหลักสูตรเฉพาะด้านกฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ถือว่าใหม่และมาแรงมากสำหรับยุคนี้ 

     ในปัจจุบันหลักสูตรที่สอนเกี่ยวกับกฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยีได้แก่ LL.B. Program in Business Law หลักสูตรกฎหมายธุรกิจ (นานาชาติ) ของธรรมศาสตร์ และ LL.Bel Laws, experiential learning in Business and Tech Law หลักสูตรกฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยี (นานาชาติ) ของจุฬาลงกรณ์ เป็นต้นซึ่งหลักสูตรเหล่านี้ได้รับการออกแบบให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการรับมือกับความท้าทายทางกฎหมายในยุคดิจิทัล

ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงตัวอย่าง เส้นทางการทำงานทั้ง 3 อาชีพของผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเฉพาะด้านกฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยีและความต้องการในตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายธุรกิจและเทคโนโลยี

1. ทนายความด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity Lawyer):

     ทนายความด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์จะให้คำปรึกษาแก่บริษัทเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ช่วยบริษัทในการร่างนโยบาย และกฎระเบียบต่างๆ เพื่อปกป้องข้อมูลและทรัพย์สินของบริษัทจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ นอกจากนี้ทนายความด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ยังมีหน้าที่ช่วยบริษัทในการจัดการต่อเหตุการณ์การละเมิดข้อมูล และแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว เช่น PDPA และ GDPR เป็นต้น

2. ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Lawyer):

    ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้คำปรึกษาแก่บริษัทเกี่ยวกับประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ และความลับทางการค้า ช่วยบริษัทในการ ปกป้องสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาและป้องกันการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น ทนายความด้านทรัพย์สินทางปัญญายังมีหน้าที่ช่วยเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา เช่น คดีละเมิดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เป็นต้น

3. ทนายความด้านอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Lawyer):

    ทนายความด้านอีคอมเมิร์ซจะให้คำแนะนำแก่บริษัทต่างๆ ในเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์ รวมถึงสัญญา การคุ้มครองผู้บริโภค และกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางธุรกิจ นอกจากนี้ทนายความด้านอีคอมเมิร์ซมีหน้าที่ช่วยบริษัทในการร่างและตรวจสอบข้อกำหนดในการให้บริการ นโยบายความเป็นส่วนตัว และข้อตกลงอื่นๆ ที่ใช้ในอีคอมเมิร์ซ เช่นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินออนไลน์ การป้องกันการฉ้อโกง และการปฏิเสธการชำระเงิน ทนายความด้านอีคอมเมิร์ซยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับการโฆษณาออนไลน์และการตลาดอีกด้วย

     นอกเหนือจากอาชีพที่ได้กล่าวมาด้านบนแล้ว ยังมีอีกหลายอาชีพ เช่น ที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้งบริษัทในประเทศไทยและต่างชาติ ผู้พิพากษา นักกฎหมาย อัยการ เป็นต้น ที่น้องๆ สามารถสอบหรือยื่นเข้าทำงานหลังจากจบหลักสูตรนี้ได้