ข้อสอบ SAT และ GSAT คืออะไร ทำไมต้องสอบ

Table of Contents

น้องๆหลายๆคนที่อยากจะเข้า หลักสูตรนานาชาติหรือไปต่อต่างประเทศคงจะเคยได้ยินชื่อข้อสอบ SAT อย่างคุ้นหู เพราะข้อสอบนี้เป็นข้อสอบวัดระดับทักษะทางด้านภาษาอังกฤษและทักษะทางด้านคณิตศาสตร์สำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศอเมริกาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก รวมทั้งภาคอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

แต่นอกจากนั้นแล้ว ข้อสอบอีกชุดที่อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็คือ ข้อสอบ GSAT ซึ่งมีพาร์ทต่างๆและมาตรฐานเดียวกัน น้องๆหลายๆคนก็คงจะได้ยินชื่อกันมาบ้างแต่อาจจะยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร เดี๋ยววันนี้ พี่จะมาอธิบายให้ฟังค่ะ ตั้งแต่ข้อสอบ 2แบบนี้คืออะไร ทำไมต้องสอบ สอบแล้วเอาไปทำอะไรได้บ้างไปจนถึงการเปรียบเทียบข้อสอบสองชุดนี้ว่าน้องๆควรจะเลือกสอบอันไหนดีค่ะ

ข้อสอบ SAT

SAT ย่อมาจาก Scholastic Aptitude Test หรือ Scholastic Assessment Test หลักๆแล้วจะถูกแยกออกเป็นสองแบบใหญ่ๆคือส่วนที่เป็น Reasoning Test ซึ่งจะประกอบด้วยพาร์ท Verbal (Evidence-Based Reading & Writing) กับพาร์ท MATH (Mathematics) และ อีกประเภทคือ SAT SUBJECT TEST ที่มีให้ทดสอบในหลายด้าน เช่น Physics, World History, Korean with Listening และอื่นๆอีกมากมาย

ข้อสอบ SAT ส่วนใหญ่แล้วในประเทศไทยจะถูกใช้เพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัยภาคอินเตอร์โดยเฉพาะ เช่น หลักสูตรนานาชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจะมีประเภทเดียวคือแบบ Paper Based Test ที่เราจะต้องสมัครและไปสอบตามสถานที่ๆทาง College Board กำหนดไว้

พาร์ทของข้อสอบ SAT

Reasoning Test จะถูกแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทหลักๆ ซึ่งคือ
1. Evidence-Based Reading & Writing ใช้เวลา 100 นาทีหรือ 1 ชั่วโมง 40 นาที เต็ม 800 คะแนน โดยจะถูกแบ่งย่อยเป็นสองพาร์ท ประกอบด้วย
1.1 Reading 52 ข้อ 65 นาที
ในพาร์ทของ Reading นั้น น้องๆจะได้รับบทความทั้งหมด 5 บทความที่มีความยาวใกล้เคียงกัน ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 600-700 คำ ในพาร์ทนี้น้องๆจะต้องใช้ทักษะการอ่านที่หลากหลายทั้งในด้านการจับใจความสำคัญ การวิเคราะห์และคำศัพท์ เพราะข้อสอบจะมีถามทั้งประเด็นที่ผู้แต่งเขียน การสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากบทความเพื่อตอบคำถาม การระบุข้อมูลต่างๆ เช่น ให้เราหาว่าใจความสำคัญที่ถูกระบุในโจทย์เอามาจากประโยคไหนถึงประโยคไหน รวมถึงการหา synonyms หรือคำที่ความหมายเหมือนกันและสามารถใช้แทนกันได้ในประโยคที่กำหนด
1.2 Writing and Language มี 44 ข้อ 35 นาที
ในพาร์ทของ Writing and Language นั้น น้องๆจะได้รับบทความทั้งหมด 4 บทความ ข้อสอบที่น้องๆจะเจอในพาร์ทนี้จะเน้นไปที่ทักษะเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ คำศัพท์และการเรียบเรียงเนื้อหา ข้อสอบ เช่น เราควรจะเปลี่ยนคำที่ถูกขีดเส้นใต้เป็นคำไหน ผู้แต่งควรจะเปลี่ยนประโยคที่ถูกขีดเส้นใต้เป็นประโยคไหน เลือกตัวเลือกที่จะทำให้ประโยคนั้นๆมีไวยากรณ์ที่ถูกต้อง และให้น้องๆเลือกตำแหน่งที่ควรจะวางประโยคที่ถูกกำหนดให้ถูกต้อง เป็นต้น ซึ่งส่วนมาก น้องๆสามารถตอบ NO CHANGE หรือไม่เปลี่ยนแปลงได้

2. Mathematics 80 นาที หรือ 1 ชั่วโมง 20 นาที เต็ม 800 คะแนน โดยจะถูกแบ่งย่อยเป็นสองพาร์ทเช่นเดียวกันกับพาร์ท Verbal ประกอบด้วย
2.1 Math Test – No Calculator หรือพาร์ทคณิตศาสตร์แบบไม่ให้ใช้เครื่องคิดเลข มี 20 ข้อและให้เวลา 25 นาที
ในพาร์ทนี้น้องๆจะได้รับคำถามทางคณิตศาสตร์ทั้งหมด 20 ข้อโดยที่ทุกข้อสามารถคิดได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคิดเลข มีทั้งโจทย์การหาพื้นที่และปริมาตร โจทย์ปัญหา การอ่านกราฟ ฯลฯ ในพาร์ทนี้จะมีพาร์ทที่เป็นแบบตัวเลือกหรือชอยส์ทั้งหมด 16 ข้อและเติมคำตอบที่ถูกต้องเป็นตัวเลขอีก 4 ข้อ
2.2 Math Test – Calculator หรือพาร์ทคณิตศาสตร์แบบให้ใช้เครื่องคิดเลข มี 38 ข้อและให้เวลา 55 นาที
ในพาร์ทนี้น้องๆจะได้รับคำถามทางคณิตศาสตร์ทั้งหมด 38 ข้อโดยที่โจทย์ส่วนมากจะจำเป็นต้องเครื่องคิดเลขในการหาคำตอบ รวมทั้งยังมีความยากมากกว่า Math Test – No Calculator อีกด้วย ในพาร์ทนี้จะมีส่วนที่เป็นแบบตัวเลือกหรือชอยส์ทั้งหมด 30 ข้อและแบบเติมคำตอบเป็นตัวเลขในช่องให้ถูกต้องอีก 8 ข้อ

ในข้อสอบ Math ทั้งสองพาร์ทจะมีเนื้อหาที่ตายตัวอยู่ น้องๆสามารถอ่านเนื้อหาที่ข้อสอบครอบคลุมได้ที่ลิ้งค์นี้เลยค่ะ https://www.kaptest.com/study/sat/sat-math-topics-what-to-know/

การให้คะแนน

ข้อสอบนี้ทั้งสองพาร์ทหลักๆจะมีคะแนนพาร์ทละ 800 คะแนน รวมเป็น 1,600 คะแนนค่ะ ซึ่งคะแนนต่ำสุดของทั้งสองพาร์ท คือพาร์ทละ 200 คะแนน ซึ่งแปลว่าถึงน้องๆจะได้มาฟรีๆเลย 400 คะแนนจาก 1,600 คะแนนค่ะ
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับข้อสอบก็คือ ทาง Collegeboard จะใช้ระบบ Equating Score หรือการ Curve สำหรับการคิดคะแนน ซึ่งเป็นการคิดคะแนนแบบอิงจากความยากง่ายของข้อสอบในแต่ละรอบ ดังนั้นความยากง่ายของข้อสอบก็จะไม่มีผลต่อคะแนนของน้องๆ เช่น สมมติว่าน้องๆทำข้อสอบผิด 1 ข้อ ในข้อสอบสองชุดที่ความยากง่ายไม่เท่ากัน น้องๆก็จะได้คะแนนไม่เท่ากันเช่นเดียวกันค่ะ หรือสรุปได้ว่าคะแนนที่น้องๆได้นั้นเป็นคะแนนที่น้องๆควรได้รับหรือเป็นคะแนนที่บ่งชี้ความสามารถของน้องๆอย่างแม่นยำแล้วนั่นเองค่ะ

การใช้คะแนน SAT

ในส่วนของการใช้คะแนน SAT นั้น เกณฑ์การสมัครของแต่ละคณะก็จะแตกต่างกันออกไปตามที่คณะนั้นๆกำหนด โดยที่บางคณะก็จะเอาแค่คะแนนพาร์ท Math หรือ พาร์ท Verbal บางคณะก็จะตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำของทั้งสองคะแนนซึ่งส่วนมากจำเป็นต้องสอบในรอบเดียวกันและบางคณะก็ไม่ดูคะแนนสองอันแยกกันแต่ตั้งเกณฑ์เป็นผลรวมขั้นต่ำของคะแนน SAT ทั้งสองพาร์ทและใช้ผลสอบอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อเป็นคัดนักศึกษา เช่น คะแนน IELTS และ TOEFLเป็นต้น
ขอบเขตของคะแนน SAT ที่คณะอินเตอร์ส่วนมากใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการยื่นคะแนน คือ ตั้งแต่ประมาณ 400 คะแนน (SAT Verbal) เช่น คณะวารสารอินเตอร์ (BJM) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจนถึง คะแนนรวม 1270 คะแนน เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีอินเตอร์ (BBA) ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของ SAT requirement จะมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากตามแต่ละคณะ ดังนั้นน้องๆก็ต้องตรวจสอบเกณฑ์การรับนักศึกษาของคณะที่น้องๆอยากเข้าให้ดี แต่แน่นอนว่ายิ่งได้คะแนนสูงก็ยิ่งมีโอกาสติดมากกว่าอยู่แล้วค่ะ

การสมัครสอบ SAT

การสมัครสอบ SAT นั้น เราจำเป็นที่จะต้องสมัครผ่านเว็บไซท์ของ collegeboard โดยตรง ตามลิ้งค์นี้ https://collegereadiness.collegeboard.org/sat โดยที่การสอบ SAT จะถูกจัดขึ้นทุกๆสามเดือน ดังนั้นน้องๆก็จะมีโอกาสสอบประมาณ 4 ครั้งต่อ 1 ปี ซึ่งการสอบ SAT จะเต็มค่อนข้างเร็ว ดังนั้นถ้าน้องๆอยากจะสอบรอบไหนก็ควรรีบตัดสินใจและรีบสมัคร เพราะนอกจากรอบสอบที่เต็มเร็วแล้ว สถานที่สำหรับสอบใกล้บ้านก็อาจจะเต็มเร็วอีกด้วย ถ้าน้องๆสมัครสอบในประเทศไทยไม่ทันและจำเป็นต้องใช้ผลสอบ ก็จำเป็นต้องขึ้นเครื่องบินไปสอบที่ประเทศอื่น เช่น ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น
ค่าสอบของ SAT Reasoning Test จะอยู่ที่ $100.50 หรือประมาณ 3,200 บาท (เทียบเป็นเงินไทยตามอัตราเงินในช่วงเดือนมิถุนายน 2020) ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมถ้าน้องๆจะเปลี่ยนสถานที่สอบ สมัครสอบช้า ขอรับผลสอบทางไปรษณีย์และอื่นๆ เช่นเดียวกับผลสอบของข้อสอบวัดระดับทางด้านภาษาหลายๆประเภท ผลสอบของ SAT ก็สามารถอยู่ได้นานถึงสองปีนับตั้งแต่วันที่สอบ

การสมัครและการเตรียมตัวสอบ SAT

ดีที่สุดคือการฝึกทำข้อสอบแบบจับเวลาตามรูปแบบการสอบจริงเพื่อให้เราได้มีความคุ้นเคยกับข้อสอบจริงก่อนที่เราจะไปเจอข้อสอบจริง โดยที่น้องๆสามารถหาข้อสอบ mock exam ต่างๆได้จากเว็บไซท์ official ของ collegeboard ที่จะให้ sample exam มาให้เราทำฟรีๆทั้งหมด 8 ชุดด้วยกัน นอกจากนี้น้องๆก็ยังฝึกทำ SAT ใน platform อื่นได้อีกด้วย

ข้อสอบ GSAT

ส่วนข้อสอบ GSAT ย่อมาจาก General Scholastic Aptitude Test เป็นข้อสอบที่เกิดการจากร่วมมือกันของ 3 มหาวิทยาลัย อันได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเพิ่มโอกาสของนักเรียนไทย โดยมีเป้าหมายคือเป็นข้อสอบทางเลือกที่มีระดับเทียบเท่ากับข้อสอบ New SAT

พาร์ทของข้อสอบ

ข้อสอบ GSAT ในส่วนที่เป็น Reasoning Test จะถูกแบ่งออกเป็น 2 พาร์ทหลักๆ ซึ่งคือ

1. English Test เทียบเท่ากับ SAT Verbal

1.1 Reading 5 บทความ (รวมบทความคู่ 1 บทความ) 50 ข้อ 65 นาที
1.2 Writing & Language 4 บทความ 40 ข้อ 35 นาที
ในข้อสอบทั้งสองส่วนจะมีความคล้ายคลึงกับ SAT มากถึงมากที่สุด แตกต่างกันที่จำนวนข้อในข้อสอบ ซึ่งในส่วนแรกที่เป็น reading ก็จะเป็นการทดสอบทักษะด้านการอ่านและจับใจความ และ Writing & Language ก็จะเน้นไปที่ด้านไวยากรณ์และคำศัพท์ เช่นเดียวกับข้อสอบ SAT

2.Mathematical Test เทียบเท่ากับ SAT Math

2.1 Math, No Calculator 20 ข้อ 25 นาที
2.2 Math, With Calculator 40 ข้อ 55 นาที
เช่นเดียวกับพาร์ท English Test ข้อสอบทั้งสองส่วนก็แทบจะเหมือนกันข้อสอบ SAT เลยทีเดียว แตกต่างกันที่จำนวนข้อ

การให้คะแนน

การให้คะแนนของข้อสอบก็แทบไม่ต่างจาก SAT เช่นเดียวกัน เพราะข้อสอบให้คะแนนพาร์ทละ 800 คะแนน (English Test 800 คะแนนและ Mathematical Test 800 คะแนน) รวมเป็น 1,600 คะแนน เช่นเดียวกับคะแนน SAT น้องๆจะได้รับคะแนน 200 คะแนนมาฟรีๆต่อพาร์ท ดังนั้นคะแนนต่ำสุดที่น้องๆจะได้รับคือ 400 คะแนนจาก 1,600 คะแนน

การใช้คะแนน GSAT

ในส่วนของการใช้คะแนน GSAT นั้น เกณฑ์การสมัครของแต่ละคณะก็จะแตกต่างกันออกไปตามที่คณะนั้นๆกำหนด โดยที่คะแนนจะสามารถใช้ได้ในการสมัครมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศไทยเท่านั้น อาธิเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น โดยที่บางคณะก็จะเอาแค่คะแนน พาร์ท Math หรือ พาร์ท English บางคณะก็จะตั้งเกณฑ์ขั้นต่ำของทั้งสองคะแนนซึ่งส่วนมากจำเป็นต้องสอบในรอบเดียวกันและบางคณะก็ไม่ดูคะแนนสองอันแยกกันแต่ตั้งเกณฑ์เป็นผลรวมขั้นต่ำของคะแนนทั้งสองพาร์ทและใช้ผลสอบอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อเป็นคัดนักศึกษา เช่น คะแนน IELTS และ TOEFL เป็นต้น เช่นเดียวกับการใช้ผลสอบ SAT

คะแนน GSAT ที่จะใช้เป็นเกณฑ์การรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยส่วนมากจะตั้งเกณฑ์คะแนนใกล้เคียงกับ SAT Requirement

ขอบเขตของคะแนน GSAT ที่คณะอินเตอร์ส่วนมากใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการยื่นคะแนน คือ ตั้งแต่ประมาณ 400 คะแนน (GSAT Reading, Writing and Language parts) เช่น คณะรัฐศาสตร์อินเตอร์ (BIR) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปจนถึง คะแนนรวม 120 คะแนน เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีอินเตอร์ (BBA) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

การสมัครและเตรียมตัวสอบ

น้องๆสามารถติดตามข้อมูล ข่าวสารและสมัครสอบ GSAT ได้ทาง http://www.smart.tbs.tu.ac.th/ โดยที่ในปีที่ผ่านมา มีเปิดให้สอบไปทั้งหมดสองรอบในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการเปิดรอบให้สอบมากขึ้นในอนาคต สถานที่สำหรับสอบมีที่เดียวคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ดังนั้นถ้าน้องๆตัดสินใจจะสอบ GSAT ก็ควรจะรีบสมัครเช่นเดียวกับ SAT

ค่าสอบปัจจุบันอยู่ที่ 1,800 บาท โดยที่น้องๆจะได้รับผลหลังจากสอบประมาณ 2 สัปดาห์และผลสอบสามารถเก็บได้สองปีหลังจากวันสอบเช่นเดียวกันผลสอบของ SAT

สำหรับการเตรียมตัวสอบที่ดีที่สุดคือการฝึกทำข้อสอบแบบจับเวลาตามรูปแบบการสอบจริงเพื่อให้เราได้มีความคุ้นเคยกับข้อสอบจริงก่อนที่เราจะไปเจอข้อสอบจริงเช่นเดียวกับข้อสอบ SAT แต่เนื่องจากข้อสอบ GSAT เป็นข้อสอบที่เพิ่งเปิดให้สอบเพียงไม่กี่ครั้ง ข้อสอบ GSAT ที่เป็นไฟล์ไว้สำหรับฝึกฝนอาจจะยังมีไม่มากนัก แต่น้องๆสามารถฝึกทำข้อสอบ SAT เพิ่มเติมได้เพราะเนื้อหา จำนวนข้อและเวลาที่ให้มีความแตกต่างกันน้อยมากๆ

2 ข้อสอบนี้ต่างกันอย่างไร

จากที่พี่เล่าไปทั้งหมดแล้ว น้องๆคงจะเห็นได้ว่าความแตกต่างระหว่างสองข้อสอบนี้มีค่อยข้างน้อยแต่ก็ยังมีอยู่บ้าง อย่างแรกที่แตกต่างกันคือจำนวนข้อสอบในแต่ละพาร์ทที่แตกต่างกันแต่ให้เวลาเท่ากัน ข้อสอบของ GSAT ในพาร์ท Verbal จะน้อยกว่าข้อสอบ SAT 6 ข้อและในพาร์ท Math จะเยอะกว่าข้อสอบ SAT 2 ข้อ

ในส่วนของระดับความยากง่ายของแต่ละข้อสอบ จากประสบการณ์ของผู้สอบโดยตรง หลายๆคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าข้อสอบพาร์ท Verbal ในข้อสอบ GSAT ค่อนข้างง่ายกว่า SAT และไม่ต้องรีบทำมาก เนื่องจากจำนวนข้อน้อยกว่า แต่มีความแตกต่างในเรื่องของจุดที่เน้นด้านไวยากรณ์บางส่วน ส่วนพาร์ทของ Math นั้น หลายๆคนก็บอกว่า GSAT มีความยากมากกว่า SAT Math ทั้งในเรื่องของข้อสอบที่มีจำนวนข้อมากกว่า จากที่จำเป็นต้องรีบทำอยู่แล้ว ก็เลยต้องจัดเวลาให้ดียิ่งขึ้นไปอีกค่ะ นอกจากนี้ในข้อสอบ Math

ก็ยังมีจำนวนข้อที่อยู่ในระดับกลางถึงยากมากกว่า มีความซับซ้อนมากกว่าในบางเนื้อหาและยังมีเนื้อหาที่เพิ่มเติมขึ้นมาจากข้อสอบ SAT อีกด้วย เช่น Logarithm และ Theorem ต่างๆ เป็นต้นค่ะ

ราคาของทั้งสองข้อสอบก็แตกต่างค่อนข้างมากทีเดียว ยิ่งไปกว่านั้นราคาสอบของข้อสอบ SAT ก็จะไม่คงที่ตามอัตราการขึ้นลงของเงินบาท แต่ก็จะอยู่ที่ประมาณ 3,200 บาท ซึ่งต่างกับค่าสอบของ GSAT ที่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 1,800 บาท

แต่ข้อดีของ SAT ที่ต่างจาก GSAT อย่างชัดเจนคือคะแนนสามารถนำไปใช้ยื่นหรือประกอบการสมัครภาคอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้แทบทุกคณะและสามารถนำไปยื่นมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้ ส่วนของ GSAT ตอนนี้สามารถนำไปประกอบการสมัครเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำได้ อาธิเช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

สรุป

SAT

SAT ย่อมาจาก Scholastic Aptitude Test หรือ Scholastic Assessment Test ข้อสอบแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ Reasoning Test และ Sat Subject Test เป็นข้อสอบที่ออกโดย College Board

Reasoning Test แบ่งเป็น

1.Evidence-Based Reading & Writing (Sat Verbal) ใช้เวลา 100 นาที คะแนนเต็ม 800 คะแนน แบ่งเป็น 2 พาร์ทย่อยประกอบด้วย

● Reading 52 ข้อ 65 นาที
● Writing and Language 44 ข้อ 35 นาที

2.Mathematics (Sat Math) ใช้เวลา 80 นาที คะแนนเต็ม 800 แบ่งเป็น 2 พาร์ทย่อยประกอบด้วย

● Math test – No Calculator 20 ข้อ 25 นาที
● Math test – Calculator 38 ข้อ 55 นาที

การสมัครสอบ

● สมัครผ่านเว็บไซท์ของ College Board
● ค่าสอบอยู่ที่ประมาณ $100 หรือประมาณ 3,200 บาท
● โดยปกติการสอบ SAT จะถูกจัดขึ้นประมาณ 4 ครั้งต่อ 1 ปี และจะเต็มค่อนข้างเร็ว หลายคนที่สมัครสอบที่ไทยไม่ทัน ก็จำเป็นต้องขึ้นเครื่องบินไปสอบที่ประเทศอื่น ยิ่งในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติอย่างโควิด SAT ก็มียกเลิกรอบสอบไปหลายครั้งเหมือนกัน น้องๆ ต้องคอยติดตามรอบวันสอบให้ดีนะคะ

GSAT

GSAT ย่อมาจาก General Scholastic Aptitude Test เป็นข้อสอบที่เกิดการจากร่วมมือกันของ 3 มหาวิทยาลัย อันได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

Reasoning Test แบ่งเป็น

1. English test ใช้เวลา 100 นาทีคะแนนเต็ม 800 คะแนน แบ่งเป็น 2 พาร์ทย่อยประกอบด้วย

● Reading 5 บทความ 50 ข้อ 65 นาที
● Writing & Language 4 บทความ 40 ข้อ 35 นาที

2. Mathematics ใช้เวลา 80 นาที คะแนนเต็ม 800 แบ่งเป็น 2 พาร์ทย่อยประกอบด้วย

● Math test – No Calculator 20 ข้อ 25 นาที
● Math test – Calculator 40 ข้อ 55 นาที

การสมัครสอบ

● ติดตามข้อมูลการสมัคร GSAT ได้ทาง http://www.smart.tbs.tu.ac.th/
● ค่าสอบอยู่ที่ 1,800 บาท

ในมุมมองของพี่นั้น เนื่องจากตัวข้อสอบแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยแต่ราคาห่างกันค่อนข้างมาก สำหรับน้องๆที่จะเข้าหลักสูตรนานาชาติในมหาวิทยาลัยที่รองรับผล GSAT เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ข้อสอบนี้ก็เป็นตัวเลือกที่คุ้มค่าและประหยัดกว่ามาก แต่ถ้าน้องๆจะไปเรียนต่อต่างประเทศหรือเข้ามหาวิทยาลัยที่ยังไม่รับรองผลคะแนนนี้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จำเป็นที่จะต้องสอบ SAT อย่างแน่นอน หากน้องๆอยากลองสนามสอบ พี่ก็ขอแนะนำให้สมัครสอบ GSAT เพราะนอกจากข้อสอบจะคล้ายกันมากแล้ว น้องๆก็จะได้ประสบการณ์การสอบในสนามจริงภายใต้ความกดดันจริงก่อนไปสอบ SAT อีกด้วย