คณะภาคไทย vs คณะอินเตอร์ สองหลักสูตรนี้แตกต่างกันอย่างไร

Table of Contents

ในปัจจุบันนี้ ความสามารถทางด้านภาษาถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับหลักสูตรนานาชาติหรือคณะอินเตอร์ ก็ได้รับความสนใจและความนิยมมากขึ้นไปด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจากมุมมองของคนที่เรียนภาคอินเตอร์อย่างพี่แล้ว หลักสูตรไทยและหลักสูตรอินเตอร์ก็แตกต่างกันมากทีเดียว ทั้งในด้านของการเรียนการสอนและสังคม ดังนั้นก่อนที่น้องๆจะตัดสินใจในการเลือกหลักสูตร ก็ควรที่จะรู้ก่อนว่าสองหลักสูตรนี้แตกต่างกันอย่างไรค่ะ ไปดูกันเลย

การสอบเข้า

อย่างแรกที่ต่างกันมากๆเลยก็คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่ละภาค เพราะสองหลักสูตรนี้ส่วนมากแล้วรับคนละช่วงเวลากัน โดยที่คณะอินเตอร์จะเปิดรับสมัครในรอบที่ 1 ซึ่งคือรอบพอร์ทหรือรอบ portfolio และรอบที่ 2 ซึ่งคือรอบโควต้า ส่วนน้อยที่จะเปิดรับสมัครเลยมาจนถึงรอบ admission 1 และ admission 2 หรือรอบที่ 3 และ 4 ในขณะที่คณะภาคไทยจะรับแตกต่างกันไปตามคณะและรับสมัครที่รอบที่ 3 หรือรอบ admission 1 เป็นหลัก ดังนั้นถ้าน้องๆ คนไหนสนใจที่สอบเข้าหลักสูตรนานาชาติ ก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวก่อนเพื่อนๆ ที่จะสอบเข้าหลักสูตรไทย เพราะรอบที่ 1 จะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนธันวาคม

สิ่งที่น้องๆ จะต้องเตรียมตัวก่อนที่จะสมัครเข้าคณะอินเตอร์ก็แตกต่างจากคณะภาคไทยอย่างมากเช่นเดียวกัน เพราะนอกจากระยะเวลาที่เรามีน้อยกว่าแล้ว ข้อสอบและผลงานหรือความต้องการของคณะก็ยังแตกต่างกันอย่างมากเช่นเดียวกัน

การสอบเข้าหลักสูตรนานาชาติส่วนมากจะเน้นไปที่ข้อสอบวัดระดับภาษา ตรรกะและทักษะคณิตศาสตร์ โดยที่ข้อสอบที่แทบทุกคณะใช้ในการรับนักศึกษาคือข้อสอบ SAT, GSAT, หรือ CU-AAT ร่วมกับข้อสอบวัดระดับภาษาโดยตรง ซึ่งคือข้อสอบIELTS, TOEFL, CU-TEP หรือ TU-GET โดยที่ข้อสอบ GSAT, CU-AAT, CU-TEP และ TU-GET จะเป็นข้อสอบของมหาวิทยาลัยนั้นๆโดยตรง เช่น CU-AAT ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์และ TU-GET ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละคณะก็จะจัดน้ำหนักของข้อสอบแต่ละตัวตามความเหมาะสมของคณะนั้นๆ ดังนั้นการเตรียมตัวทำข้อสอบกลางเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญอย่างมากในการสอบเข้าคณะอินเตอร์

ในขณะนี้ภาคไทยนั้นจะเปิดรับสมัครนักเรียนด้วยกันทั้งหมด 5 รอบ ดังนี้ รอบที่ 1 (portfolio) รอบที่ 2 (โควต้า) รอบที่ 3 (admission 1 หรือรับตรงร่วมกันรอบที่ 1) รอบที่ 4 (admission 2 หรือรับกลางร่วมกัน) และรอบที่ 5 (รับตรงอิสระ) โดยที่รอบที่ 1, 2 และ 5 ทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้กำหนัดช่วงเวลาในการสอบสัมภาษณ์ด้วยตนเอง แต่รอบที่ 3 และ 4 จะสอบพร้อมกันทุกมหาวิทยาลัยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน

หลักสูตรไทยจะเปิดรับนักเรียนมากที่สุดในรอบที่ 3 และรอบที่ 4 เป็นหลัก ต่างจากหลักสูตรนานาชาติที่เปิดรับในรอบที่ 1 และ 2 โดยที่คะแนนที่ใช้จะมาจากข้อสอบกลางของประเทศไทยคือ GAT/PAT O-NET หรือ 9 วิชาสามัญ รวมทั้งมีการกำหนด GPAX หรือผลการเรียนเฉลี่ยขั้นต่ำแล้วแต่เกณฑ์การกำหนดของแต่ละคณะ

ข้อสอบที่แต่ละรอบใช้เป็นเกณฑ์ในการรับสมัครก็แตกต่างกันไปด้วย เช่น รอบที่ 3 ส่วนมากจะใช้ 9 วิชาสามัญและรอบที่ 4 จะใช้ O-NET โดยจะมีการใช้คะแนน GAT/PAT ที่เป็นข้อสอบความถนัดต่างๆควบคู่ไปด้วย เช่น คณะสถาปัตยกรรมหลักสูตรไทยของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ก็ใช้ PAT 4 หรือ ความถนัดทางสถาปัตย์ควบคู่กับคะแนน 9 วิชาสามัญ เป็นต้น

นอกจากนี้ทุกคณะของหลักสูตรนานาชาติจะมีการสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษซึ่งในบางคณะน้ำหนักของการสอบสัมภาษณ์ค่อนข้างสูงในขณะที่บางคณะแทบไม่มีน้ำหนักเลย ดังนั้นก่อนที่จะสมัครคณะอินเตอร์ก็ควรจะศึกษาในเรื่องของน้ำหนักคะแนนต่างๆให้ดีเพื่อที่น้องๆ จะได้แบ่งเวลาในการเตรียมตัวสอบเข้าได้อย่างเหมาะสม

ในการสอบสัมภาษณ์นั้น ส่วนมากจะถามเพื่อดูความเข้าใจในคณะของน้องๆ เช่น ทำไมถึงสนใจคณะนี้ ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับคณะ อยากเรียนคณะนี้จริงๆหรือเปล่า เป็นต้น รวมทั้งการถามและให้เราอธิบายเกี่ยวกับพอร์ทโฟลิโอของเรา ซึ่งในบางคณะเราก็จะต้องทำพอร์ทโฟลิโอเพื่อคณะนั้นๆตามสิ่งที่คณะต้องการ แต่ก็จะมีประเด็นที่น้องๆจะถูกถามแตกต่างกันไปตามแต่ละคณะและความถนัดเช่นเดียวกัน เช่น คณะสถาปัตยกรรมก็จะมีการถามเกี่ยวกับ artwork หรือสถาปนิกที่ชอบ เป็นต้น

การเรียนการสอน ระหว่าง คณะอินเตอร์ และ ภาคไทย

ได้ชื่อว่าคณะอินเตอร์แล้ว การเรียนการสอนก็แตกต่างจากภาคไทย มากเช่นเดียวกัน อย่างแรกเลยคือการใช้ภาษาเพราะการเรียนการสอนของหลักสูตรนานาชาติจะใช้ภาษาอังกฤษทั้งหมดและคุณครูที่สอนส่วนมากก็เป็นชาวต่างชาติเช่นเดียวกัน

การเรียนในแต่ละวิชาจึงจะแตกต่างกันออกไปตามสไตล์การสอนของคุณครูแต่ละคนซึ่งจะแตกต่างจากรูปแบบการเรียนที่น้องๆเคยได้เรียนมาในหลักสูตรไทย แต่แน่นอนว่าคุณภาพการเรียนการสอนไม่ด้อยไปกว่ากันถึงแม้หลักสูตรภาคไทยในบางคณะจะมีความยากมากกว่าในด้านของตัวหลักสูตรอยู่บ้าง
นักศึกษาในคณะก็จะมีทั้ง นักเรียนจากโรงเรียนอินเตอร์ นักเรียนจากโรงเรียนไทย จากโปรแกรมอีพีและนักเรียนต่างชาติ โดยที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะมีการกำหนดสัดส่วนของนักเรียนชาวไทยและนักเรียนชาวต่างชาติที่ชัดเจนและแตกต่างกันออกไป ดังนั้นนอกจากในเวลาเรียนแล้ว การคุยกันในคณะส่วนมากก็จะเป็นภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน นอกจากนี้จำนวนนักเรียนในคณะอินเตอร์ก็น้อยกว่าหลักสูตรภาคไทยเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับจำนวนนักศึกษาในแต่ละ section ดังนั้นการเรียนในคณะก็จะมีการดูแลการเรียนการสอนอย่างทั่วถึงและเป็นสังคมที่ทุกคนรู้จักกันและสนิทกัน

นอกจากการเรียนหลักสูตรนานาชาติที่เป็นที่นิยมมากขึ้นในสังคมไทยแล้ว การไปเรียนต่อต่างประเทศหรือที่เราได้ยินกันบ่อยๆว่าไป “ต่อนอก” ก็ยังเป็นที่นิยมเช่นเดียวกัน ซึ่งน้องๆหลายคนคงสงสัยว่าหลักสูตรนานาชาติของประเทศไทยแตกต่างกับหลักสูตรต่างประเทศอย่างไร เดี๋ยวพี่จะสรุปย่อๆ ให้ฟังค่ะ

“การเรียนในประเทศไทยถึงแม้จะเป็นในหลักสูตรนานาชาติแต่ด้วยความที่เราอยู่ในสังคมที่อยู่กับเพื่อนๆคนไทยซะเป็นส่วนใหญ่ เราก็จะมีการสื่อสารด้วยภาษาไทยบ้างเป็นธรรมดา ซึ่งแน่นอนว่าการที่เราไปเรียนที่ประเทศและอยู่ในสภาพแวดล้อมเจ้าของภาษาย่อมมีการใช้ภาษาอังกฤษมากกว่า แต่การไปเรียนต่อต่างประเทศในสถาพแวดล้อมที่เราไม่คุ้นเคยนั้น นอกจากการปรับด้านการใช้ภาษาแล้ว เราก็ต้องปรับตัวทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิตด้วย เพราะเราจำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองมากกว่าถ้าเราไปเรียนต่างประเทศ

การเลือกเรียนหลักสูตรนานาชาติในประเทศไทยก็มีคณะที่จำกัดและไม่มากเท่าภาคไทยปกติ ในขณะที่ถ้าเราไปเรียนประเทศอื่น ทางเลือกของการเลือกคณะที่น้องๆจะเรียนนั้นจะมากกว่าและมีสาขาเฉพาะทางมากกว่าภาคอินเตอร์ที่ไทย แต่ความหลากหลายของคณะและความสามารถทางภาษาที่เราจะได้รับก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงเช่นเดียวกัน เพราะค่าเรียนของต่างประเทศก็ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพของประเทศนั้นๆซึ่งส่วนมากสูงกว่าที่ไทยและน้องๆยังต้องเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทาง ฯลฯ”

ค่าเทอม

ค่าเทอมก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินใจเลือกคณะที่จะเรียน โดยที่คณะอินเตอร์นั้นจะมีค่าเทอมที่ค่อนข้างสูงเพราะบุคลากรและคุณครูที่สอนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

ส่วนมากแล้วค่าเทอมของหลักสูตรนานาชาติจะมีตั้งแต่ 50,000 บาทไปจนถึง 500,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับคณะและมหาวิทยาลัยที่เราเลือกเรียนซึ่งถือว่าแตกต่างจากมหาวิทยาลัยภาคไทยมากทีเดียว

สังคม

อย่างที่ได้พูดไปแล้วว่าในสังคมคณะอินเตอร์หรือ หลักสูตรนานาชาติจะมีนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมหลากหลายหลักสูตรรวมถึงมีนักเรียนชาวต่างชาติด้วย ดังนั้นสังคมก็จะเป็นสังคมที่มีความหลากหลายของทั้งวัฒนธรรม การใช้ชีวิตและการทำงาน ซึ่งก็จะทำให้เราได้เรียนรู้การรูปแบบการทำงานและการสอนที่หลากหลายด้วยเช่นเดียวกัน

โอกาสในการเรียนต่อต่างประเทศ

แน่นอนว่าการที่น้องๆเรียนหลักสูตรนานาชาติจะทำให้น้องๆได้เปรียบทั้งในด้านทักษะภาษาและทักษะการเรียนแบบ international ดังนั้นน้องๆ จึงไม่จำเป็นต้องกังวลมากกัยการสอบเข้ามหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ใช้การสอบวัดระดับภาษาเป็นส่วนหนึ่งของเกณฑ์การคัดเลือก มากไปกว่านั้นเนื่องจากน้องๆเคยเรียนมหาวิทยาลัยหลักสูตรนานาชาติมาแล้ว น้องๆ ก็จะมีปัญหาน้อยลงเกี่ยวกับการปรับตัวเข้าหาเพื่อนๆ ต่างชาติเมื่อไปเรียนต่อต่างประเทศอีกด้วย

นอกจากจะมีโอกาสเรียนต่อต่างประเทศที่สูงเนื่องจากน้องๆ จะมีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีแล้ว บางคณะอินเตอร์ก็ยังให้โอกาสกับน้องๆได้ไปทดลองเรียนแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศหรือมีให้นักเรียนจากมหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาแลกเปลี่ยนกับคณะของเรา เช่น BAScii ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ก็ได้วางแผนไว้ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนที่ University of California, Berkeley เป็นต้นค่ะ

เงินเดือนหลังเรียนจบ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในยุคนี้ ภาษาที่ 3 หรือ 4 เป็นอะไรที่สำคัญมาก แต่การสมัครเข้าทำงานนั้นมีหลายปัจจัยหรือองค์ประกอบที่มีผลต่อเงินเดือน อันได้แก่ ความตรงสายขอตำแหน่งที่เราสมัครกับสาขาวิชาที่เราสำเร็จการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน ประสบการณ์ฝึกงาน เกรดเฉลี่ยตอนจบการศึกษา การทำกิจกรรมชมรมหรือมหาวิทยาลัย การเข้าอมรมสัมมนาในเรื่องที่เกี่ยวสาขาวิชาที่เรียน และความสามารถทางด้านภาษา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่มีจะถูกนำมาพิจารณาต่อการต่อรองเงินเดือนของน้องๆ การเข้าเรียนและจบการศึกษาในหลักสูตรภาษาอังกฤษหรือนานาชาติจะช่วยเพิ่มโอกาสในการทำงานได้งานและเพิ่มเงินเดือนได้แน่นอน เพียงแต่ว่าน้องๆควรพัฒนาปัจจัยในด้านอื่นควบคู่ไปด้วย

สรุป

การสอบเข้า

● คณะอินเตอร์ส่วนใหญ่จะเปิดรับสมัครในรอบที่ 1 ซึ่งคือรอบพอร์ทหรือรอบ portfolio และรอบที่ 2 ซึ่งคือรอบโควต้า
● ในขณะที่คณะภาคไทยจะรับแตกต่างกันไปตามคณะและรับสมัครที่รอบที่ 3 หรือรอบ admission 1 เป็นหลัก

ถ้าน้องๆ คนไหนสนใจที่สอบเข้าหลักสูตรนานาชาติ ก็จำเป็นที่จะต้องเตรียมตัวก่อนเพื่อนๆ ที่จะสอบเข้าหลักสูตรไทย เพราะรอบที่ 1 จะเริ่มเปิดรับสมัครตั้งแต่เดือนธันวาคม

คะแนนที่ใช้

คณะอินเตอร์
● คะแนนวัดระดับภาษาเช่น TUGET, IELTS
● คะแนน Reasoning Test เช่น SAT
● คะแนนสอบอื่นๆ แล้วแต่คณะเช่น CU-TAD, HSK
● Portfolio

ภาคไทย
● O-net
● 9 วิชาสามัญ
● GAT/PAT
● GPAX

การเรียนการสอน

● คณะอินเตอร์ต่างกับหลักสูตรไทยตรงที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน และส่วนมากครูก็เป็นชาวต่างชาติ เพื่อนร่วมชั้นมาจากทั้งโรงเรียนไทย โปรแกรมอีพี และนักเรียนชาวต่างชาติ จำนวนนักเรียนในชั้นน้อยกว่าหลักสูตรภาคไทย ทำให้เกิดเป็นสังคมที่ทุกคนรู้จักกันและสนิทกัน

ค่าเทอม

● คณะอินเตอร์ค่าเทอมสูงกว่าหลักสูตรไทย โดยเฉลี่ยเริ่มตั้งแต่ 50,000 – 500,000 บาทต่อปี

โอกาสในการเรียนต่อต่างประเทศ

● ไม่ว่าจะเรียนภาคอินเตอร์หรือภาคไทยก็สามารถไปเรียนต่อต่างประเทศได้เหมือนกัน เพียงแต่ถ้าเรียนภาคอินเตอร์มา อาจจะได้เปรียบในเรื่องของการปรับตัวด้านทักษะภาษา และการเตรียมสอบเข้ามหาลัยฯ เนื่องจากมีประสบการณ์มาแล้วจากการเรียนหลักสูตรนานาชาติ

เงินเดือนหลังเรียนจบ

ทักษะด้านภาษาเป็นเหมือนข้อได้เปรียบในด้านการสมัครงาน แต่ก็ไม่เสมอไปว่าเรียนจบภาคอินเตอร์มาแล้วจะได้เงินเดือนมากกว่าหลักสูตรไทย เพราะการสมัครเข้าทำงานมีอีกหลายปัจจัยที่มีผลต่อเงินเดือน เช่นประสบการณ์ทำงาน ประสบการณ์ฝึกงาน และความสามารถด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานนั้นๆ