หลักสูตร นานาชาติ หรือ “ภาคอินเตอร์” ที่ทุกคนรู้จักกันได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้ามหาวิทยาลัยที่น่าสนใจ ซึ่งหลักสูตรนี้ค่อนข้างแตกต่างกับหลักสูตรภาคไทยปกติอย่างมากทั้งในเรื่องของการสอบเข้าและการเรียนการสอน ก่อนที่เราจะตัดสินใจหรือสำหรับคนที่เพิ่งเปลี่ยนใจจะมาสอบเข้าคณะอินเตอร์ควรรู้อะไรบ้าง มาดูกันค่ะ
รู้ก่อนว่ามหาวิทยาลัยไหนที่เปิดหลักสูตรอินเตอร์บ้าง
ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกเรียนภาคอินเตอร์ เราต้องรู้ก่อนว่ามีมหาวิทยาลัยไหนเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติบ้างและในมหาวิทยาลัยนั้นเปิดสอนภาคหรือคณะอินเตอร์อะไรบ้าง เพราะคณะอินเตอร์ไม่ได้มีเปิดสำหรับทุกสาขาและบางมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีการเปิดสอนหลักสูตรนี้
แต่หลายมหาวิทยาลัยก็มีการเปิดสอนคณะอินเตอร์ที่มีความแตกต่าง น่าสนใจและตอบสนองกับความต้องการของนักเรียนยุคใหม่มากขึ้น เช่น
● จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – การบัญชี, สถาปัตยกรรม, วิศวกรรมนาโน, ฯลฯ
● มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์, อังกฤษ-อเมริกันศึกษา, การออกแบบเชิงนวัตกรรรมดิจิทัล, ฯลฯ
● วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล – การออกแบบนิเทศศิลป์, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ, การตลาด, ฯลฯ
● มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์การประกอบการ, วิศวกรรมเครื่องกล, เกษตรเขตร้อน, ฯลฯ และอีกมากมายค่ะ
แล้วหลักสูตรนานาชาติ หรือ อินเตอร์ แตกต่างจากภาคไทยอย่างไร
สิ่งที่แตกต่างมาก คือสังคมและการใช้ภาษา เพราะหลักสูตรนานาชาติจะจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด นักเรียนก็จะมีทั้งนักเรียนไทย อินเตอร์และนักเรียนชาวต่างชาติ ดังนั้นภาษาอังกฤษจะจำเป็นมากสำหรับการเข้าเรียนอินเตอร์
สไตล์การเรียนการสอนก็จะแตกต่างออกไปจากภาคไทยเพราะครูส่วนใหญ่ก็เป็นชาวต่างชาติ และการดูแลนักเรียนจะทั่วถึงมากเพราะจำนวนนักเรียนต่อชั้นเรียนจะน้อยกว่าภาคไทย นอกจากนี้บางคณะยังมีโปรแกรมพานักเรียนไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศอีกด้วย
วิธีการสอบเข้าหลักสูตรนานาชาติ
ส่วนมากภาคอินเตอร์จะรับแค่รอบพอร์ทโฟลิโอหรือรอบที่ 1 และรอบโควตาหรือรอบที่ 2 บางคณะอาจเลยมาถึงรอบ admission 1 หรือรอบที่ 3 และรอบ admission 2 หรือรอบที่ 4 ดังนั้นจะต้องเตรียมตัวเร็วกว่าคนที่จะสอบเข้าภาคไทยมากๆ เพราะรอบที่ 1 ซึ่งเป็นรอบหลักของการสมัครเข้าหลักสูตรนานาชาติ ส่วนมากจะเริ่มรับลงทะเบียนตั้งแต่เดือนธันวาคมของทุกปี
การสอบที่จะใช้วัดระดับโดยส่วนมากจะไม่ใช่ gat, pat หรือ 9 วิชาสามัญแต่จะใช้การสอบวัดระดับภาษาเป็นหลัก ซึ่งคือ SAT และ IELTS รวมทั้งยังมีการสอบอื่นๆ ที่แต่ละคณะต้องการ เช่น SAT II, BMAT หรืออาจเป็นข้อสอบเจาะจงของแต่ละคณะ เช่น CU-TAD ที่ INDA ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ใช้ หรือ Aptitude Test อื่นๆ เป็นต้น
แต่ก็ยังมีบางคณะที่รับผลการสอบ GAT/PAT หรือ 9 วิชาสามัญ เช่น Sirindhorn International Institute of Technology หรือ SIIT ของมหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ หลักสูตรนานาชาติบางหลักสูตรจะต้องการ portfolio ของเราที่เก็บกิจกรรมต่างๆ ที่เราเคยทำมาอีกด้วย โดยที่บางคณะจะต้องการพอร์ทที่เจาะจงต่อคณะ เช่น COMMDE และ INDA ของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ จะบังคับให้มีงานศิลปะต่างๆในพอร์ทเป็นหลักอีกด้วย ดังนั้นการเช็ค requirement หรือคุณสมบัติผู้สมัครของแต่ละคณะอย่างละเอียดก็สำคัญมากเช่นเดียวกันค่ะ
ควรเตรียมตัวอย่างไรสำหรับอินเตอร์มือใหม่
อย่างแรกคือการดู requirement หรือคุณสมบัติผู้สมัครของแต่ละคณะในแต่ละรอบ ว่าต้องการคะแนนของผลสอบวัดระดับตัวไหนบ้าง ใช้คะแนนเท่าไหร่ หรือต้องการ portfolio หรือเปล่า ซึ่งส่วนใหญ่หลักสูตรนานาชาติจะใช้ SAT, GSAT, หรือ CU-AAT ซึ่งเป็นข้อสอบวัดระดับภาษาและทักษะทางด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ ร่วมกับ IELTS, TOEFL, CU-TEP หรือ TU-GET ซึ่งเป็นข้อสอบวัดระดับภาษาโดยตรงที่เน้นทดสอบทักษะภาษาอังกฤษอย่างครบถ้วนเป็นหลัก โดยข้อสอบ GSAT, CU-AAT, CU-TEP และ TU-GET จะเป็นข้อสอบที่ออกโดยมหาวิทยาลัยโดยตรง มีข้อดีในด้านค่าสอบที่ถูกกว่า และมีรอบสอบให้ลองสนามเยอะกว่าด้วย
ในบางคณะจะนำคะแนนจากข้อสอบวัดระดับเหล่านี้มามีน้ำหนักในการจัดอันดับคัดเลือกผู้สมัคร แต่ในบางคณะ ผลคะแนนสอบวัดระดับเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่ใบเบิกทางเพื่อให้ได้เข้าสอบกับข้อสอบที่ออกโดยคณะต่อไป อย่างไรก็ตามการตั้งเป้าหมายให้ได้คะแนนสูง และ การเตรียมตัวทำข้อสอบ อย่างเต็มที่ก็ทำให้เราได้ฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ขั้นตอนต่อไป เราควรต้องเช็คตารางเวลาการสอบเข้าของคณะนั้นๆ ด้วยเพราะหลักสูตรนานาชาติส่วนมากจะเปิดรับสมัครไม่พร้อมกัน การวางแผนเกี่ยวกับการสอบและการยื่นใบสมัครเลยเป็นอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญมากๆ ค่ะ
ทุกคณะของภาคอินเตอร์จะมีการสอบสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษ แต่น้ำหนักจะไม่เท่ากันหรืออาจะไม่มีน้ำหนักเลย แล้วแต่คณะกำหนด ซึ่งส่วนมากการสัมภาษณ์ของภาคอินเตอร์จะถามถึงความเข้าใจในคณะ ว่าเรารู้จักคณะมากแค่ไหน เรามีความสนใจที่เกี่ยวข้องกับคณะหรือสาขามากน้อยเพียงใด ต้องการจะเรียนจริงๆ หรือเปล่า ถามความรู้รอบตัวที่เกี่ยวข้องกับสาขาคณะนั้นๆ ถามเกี่ยวกับพอร์ทผลงานของเรา ไปจนถึงให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวข่าวหรือเหตุการณ์ปัจจุบัน ดังนั้นเราควรศึกษาคณะให้ดีและเตรียมตัวเกี่ยวกับการสอบสัมภาษณ์ให้พร้อมเช่นเดียวกันค่ะ
นอกจากการศึกษามหาวิทยาลัยและคณะที่เราต้องการจะสมัครอย่างละเอียดแล้ว การเตรียมตัวเข้าและเตรียมตัวการเรียนอินเตอร์ก็ยังจำเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน เพราะทั้งการสอบเข้าและการเรียนการสอนใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักทั้งหมด ดังนั้นน้องๆจะเตรียมตัวเพื่อการสอบและสัมภาษณ์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะถ้าเข้าไปเรียนแล้ว รูปแบบและสไตล์การเรียนการสอนอาจจะไม่เหมือนที่น้องๆเคยเรียนมาตอนมัธยมแล้ว ดังนั้นการฝึกทักษะเพื่อการเรียนในหลักสูตรนานาชาติที่คาดหวังไว้ก็สำคัญเช่นเดียวกันค่ะ
สรุป
หลักสูตรนานาชาติกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้ามหาวิทยาลัยที่น่าสนใจแต่ก่อนที่จะตัดสินใจเรียนอินเตอร์ สิ่งที่ควรรู้มีดังนี้
1. รู้ก่อนว่ามหาลัยหลักสูตรนานาชาติมีที่ไหนเปิดบ้างและเป็นหลักสูตรนานาชาติที่เราอยากเรียนหรือไม่
● หลักสูตรนานาชาติ จุฬา – การบัญชี, สถาปัตยกรรม, วิศวกรรมนาโน, ฯล
● มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์, อังกฤษ-อเมริกันศึกษา, การออกแบบเชิงนวัตกรรรมดิจิทัล, ฯลฯ
● วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล – การออกแบบนิเทศศิลป์, วิทยาศาสตร์ชีวภาพ, การตลาด, ฯลฯ
● มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ – เศรษฐศาสตร์การประกอบการ, วิศวกรรมเครื่องกล, เกษตรเขตร้อน, ฯลฯ
2. รู้ก่อนว่าหลักสูตรอินเตอร์แตกต่างจากภาคไทยอย่างไร
● ด้านสังคมและการใช้ภาษาอังกฤษในการเรียน
● มีครูชาวต่างชาติ
● มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ต่างประเทศ
3. การสอบเข้าหลักสูตรนานาชาติ
● ต้องใช้คะแนนภาษาอังกฤษเช่น IELTS, TOEFL หรือ SAT
● บางคณะอาจต้องมีการใช้คะแนนข้อสอบอื่นๆ เพิ่มเติมเช่น CU-TAD (ใช้กับคณะสถาปัตย์อินเตอร์ INDA) หรือ HSK (ใช้กับจีนศึกษา PBIC)
● เตรียมพอร์ทโฟลิโอให้เหมาะสมกับคณะที่จะเข้า