สวัสดีค่ะ “พี่พริ้ม” (ชรินพร ฤทธิรงค์วัฒนา) นะคะ ตอนนี้พี่พริ้มเพิ่งจบการศึกษาจาก BALAC (Bachelor of Arts in Language and Culture) หรือ คณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาและวัฒนธรรม (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น้อง ๆ หลายคนคงจะพอทราบรายละเอียดเบื้องต้นกันไปแล้ว แต่ในวันนี้ พี่พริ้มจะมารีวิว BALAC แบบเรียล ๆ จากประสบการณ์ตรงกัน ว่าชีวิต 4 ปี ในรั้วจุฬาและในหลักสูตรนี้ว่า เราจะได้เรียนและทำกิจกรรมอะไรบ้าง
ต้องขอเกริ่นก่อนว่า พี่พริ้มก็เหมือนน้อง ๆ หลายคนที่อยากเข้าหลักสูตร BALAC CU เพราะเป็นเด็กสายศิลป์ที่ชอบเรียนภาษา ตอนอยู่มัธยมปลาย พี่พริ้มได้มีโอกาสไปโครงการแลกเปลี่ยน High School Exchange Program ที่ประเทศเยอรมนี เป็นระยะเวลา 11 เดือน นั่นจึงทำให้พี่พริ้มมั่นใจมากขึ้นว่า ตนเองเป็นคนที่ชื่นชอบศึกษา และเรียนรู้ ภาษาและวัฒนธรรมใหม่ ๆ
BALAC นับว่าเป็นคณะแรกของประเทศไทย ที่เปิดสอนด้านวัฒนธรรม หรือ Cultural studies โดยตรง และชื่อเสียงของคณะ ทำให้หลักสูตรนี้ เป็นตัวเลือกแรกของพี่พริ้ม เมื่อต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเมื่อสอบติด เลยดีใจมาก ๆ แต่ก็กังวลว่า “เอ้ะ! เราจะเรียนไหวไหมนะ?” คิดว่าน้องหลาย ๆ คนคงมีความรู้สึกเดียวกัน ลองมาดูประสบการณ์ของพี่พริ้มกันดีกว่า ว่าเราจะเอาชีวิตรอด และเรียนอย่างมีความสุขได้ยังไง มีอะไรน่าสนใจบ้างในการเรียนของพี่พริ้ม
วิชาเด็ด ด่านยากใน 4 ปีมีอะไรบ้างนะ
ในหนึ่งเทอม นิสิต BALAC จุฬา ส่วนใหญ่จะเรียนกัน 6-7 วิชา โดยในหลักสูตรก่อนปี 2018 ที่พี่พริ้มเรียน จะมีวิชาบังคับ (core courses) ประมาณ 2-3 วิชาต่อเทอม ในช่วงปี 1-3 และวิชาเอกของเรา (cultural studies) ที่สามารถเลือกลงได้ 2-3 วิชาต่อเทอม โดยคณะจะมีรายชื่อวิชาให้เราเลือกลงตามความสนใจ อีกหนึ่งอย่างคือวิชาโท ซึ่งในหลักสูตรของพี่พริ้ม สามารถเลือกภาษาที่ 3 เป็นวิชาโท (concentration courses) ได้ ได้แก่ ภาษาสเปน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน และภาษาญี่ปุ่น (ภาษาที่มีให้เลือกจะเปลี่ยนไปตามความต้องการของเด็กในแต่ละปี) ทางพี่พริ้มเลือกโทภาษาสเปนค่ะ แต่ขอกระซิบว่าหลักสูตรใหม่ มีวิชาโทใหม่ 2 อันคือ Media Cultures และ Global Cultures ค่ะ นอกจากนั้นเรายังต้องเรียนวิชา General Education (GEN-ED) ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานของจุฬาฯ ร่วมกับเพื่อน ๆ คณะอื่นด้วยค่ะ
จริง ๆ แล้ว ใน หลักสูตร BALAC จุฬา จะมีวิชาที่น่าสนใจมากมายเลยค่ะ แต่พี่พริ้มขอยกตัวอย่างวิชาพี่พริ้มคิดว่าเด็ดที่สุดแล้วกัน
ด่านที่ 1: ในการเรียนปีแรก คงต้องเป็นวิชา วิชาการใช้เหตุผล หรือ Reasoning เลยค่ะ ในวิชานี้เราจะได้เรียนเกี่ยวกับการใช้เหตุผล การคิดวิเคราะห์และวิพากย์ อาจารย์จะสอนให้เราคิดและพิจารณาว่า บทความ คือคำพูดที่เราได้อ่านหรือได้ยินนั้น มีเหตุผลหรือเปล่า ผู้เขียนหรือผู้พูดมีการใช้อารมณ์ หรือตรรกะผิดเพี้ยน (fallacies) ในการเขียนหรือไม่ ซึ่งเป็นอะไรที่แปลกใหม่มากสำหรับเด็กปี 1 แต่พี่พริ้มคิดว่า วิชานี้เป็นวิชาที่สำคัญมาก ๆ เพราะถือเป็นการปูพื้นฐานทางความคิดของเราเพื่อจะสามารถคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลในการเรียนวิชาอื่น ๆ ตลอด 4 ปี ได้
ด่านที่ 2: ในปีที่ 2 น้อง ๆ จะได้เรียนวิชาอารยธรรมต่าง ๆ โดยในปี 2 จะมีวิชา อารยธรรมตะวันออก (Eastern Civilization) และ อารยธรรมตะวันตก (Western Civilization) ซึ่งในวิชาอารยธรรมเหล่านี้ เราไม่ได้เรียนแค่ประวัติศาสตร์ของประเทศ หรือทวีปต่าง ๆ เท่านั้น แต่เรายังเชื่อมโยงไปถึง พื้นฐานวัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจ การเมืองของประเทศ ชนชาติ และทวีปต่าง ๆ ว่าประวัติศาสตร์ส่งผลยังไงกับวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ซึ่งทำให้เราเข้าใจเบื้องลึกเบื้องหลังของประเทศนั้น ๆ ถึงแก่นมากขึ้น ขอบอกว่าเวลาจะสอบวิชาอารยธรรมที ต้องอ่านจนเก็บไปฝันเลยค่ะ เพราะจำเยอะมาก ๆ แต่สองวิชานี้เป็นวิชาโปรดของพี่พริ้มเลย เพราะอาจารย์สอนสนุกมาก ๆ และได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมาย
ด่านต่อมา: โทภาษา step up ความยาก! สำหรับพี่พริ้ม พี่พริ้มเลือกวิชาโทภาษาสเปน ซึ่งใน 2 ปีแรก เราเรียนภาษาพื้นฐาน เช่น Basic Spanish, Intermediate Spanish ซึ่งไม่ได้ยากมาก แต่จู่ ๆ พอขึ้นปี 3 วิชาโทภาษาก็ไม่ใช่การสอนไวยกรณ์ธรรมดา ๆ อีกต่อไป แต่เป็นการนำมาใช้งานจริง เช่น วิชาการพูดสเปน (Spanish Speaking Skills) การอ่านสเปน (Spanish Reading Skills) การเขียนสเปน (Spanish Writing Skills) หรือ วิชาวัฒนธรรมลาตินอเมริกา (Latin American Culture) ซึ่งวิชาเหล่านี้ สำหรับพี่พริ้ม เป็นการปรับตัวยกใหญ่เลยค่ะ เพราะเราไม่ใช่แค่ท่อง ๆ ไปสอบแล้ว แต่ต้องเข้าใจและนำมาใช้ได้จริง แต่พอผ่านปี 3 มา สังเกตได้เลยว่าทักษะภาษาของเราพัฒนาขึ้นมาก ๆ
ด่านสุดท้าย: ตอนปี 4 นิสิตส่วนใหญ่จะไม่ต้องเรียนวิชาบังคับแล้วค่ะ เหลือแต่วิชาเอก (cultural studies) ที่ต้องเก็บให้ครบ ซี่งเราสามารถเลือกได้ ซึ่งวิชา Cultural Studies ที่พี่พริ้มชอบมากที่สุดคือวิชา Culture and Globalization ค่ะ วิชานี้จะสอนเกี่ยวกับวัฒนธรรมต่าง ๆ ในโลกโลกาภิวัตน์ หรือโลกไร้พรมแดน เช่น วัฒนธรรมสื่อ วัฒนธรรมของธุรกิจ องกรณ์ต่างชาติต่าง ๆ ที่มีบทบาทในโลกสมัยนี้ ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ทันสมัยต่อโลกปัจจุบัน ทำให้เราเข้าใจโลกในยุคศตวรรษที่ 21 มากขึ้น และสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการทำงานได้จริง
พี่พริ้มขอเสริมว่า ถึงแม้ว่าหลักสูตรของ BALAC จะดูเหมือนเป็นหลักสูตรที่กว้าง แต่เราสามารถเลือกเรียนวิชาเอกตามที่เราสนใจได้เลย พี่พริ้มของแบ่ง วิชา Cultural Studies เป็น 3 สาย คือ สายสังคม/รัฐศาสตร์ สายนิเทศศาสตร์ และสายวรรณกรรม ซึ่งทุกอย่างจะเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทั้งหมด แต่เจาะลึกไปในแต่ละด้าน ซึ่งน้อง ๆ สามารถเลือกลงตามความสนใจได้ นอกจากนี้ น้อง ๆ หลายคนที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบอะไร จะนิเทศฯ ก็ไม่สุด จะรัฐศาสตร์ก็ไม่อินขนาดนั้น ความเห็นส่วนตัวพี่พริ้มคิดว่า หลักสูตรนี้เปิดกว้างให้เราได้ค้นหาความชอบลึก ๆ ของตัวเองอยู่นะอย่างพี่พริ้ม พอเรียนวิชาต่าง ๆ ก็รู้จักตัวเองมากขึ้น ว่าเราแอบชอบแนวรัฐศาสตร์ ซึ่งเราสามารถนำพื้นฐานที่เราได้เรียน ไปต่อยอดในการทำงาน หรือการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทได้
BALAC เรียนอย่างเดียวรึเปล่า? มีกิจกรรมบ้างมั้ย ?
นอกจากการเรียนในห้องแล้ว กิจกรรมก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกันที่จะทำให้เราพัฒนาตัวเอง พี่พริ้มขอบอกว่า กิจกรรมในคณะ และในจุฬาฯ มีเยอะและหลากหลายมาก น้อง ๆ สามารถเลือกตามความชอบได้เลย อย่างปี 1 ก็จะมีการรับน้อง ทั้งของคณะ ที่เรียกว่า BALAC Trip และรับน้องของมหาวิทยาลัย มีแข่งกีฬา Freshy Gameระหว่างคณะต่าง ๆ รวมถึง Inter games ซึ่งมีประกวดการแสดง และกีฬาของคณะอินเตอร์
นอกจากนี้ พี่พริ้มยังได้มีโอกาสทำกิจกรรมเป็น ทูตสันถวไมตรี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CU Goodwill Ambassadors ซึ่งทำหน้าที่ดูแลแขกและนักเรียนต่างชาติ ที่มาเยี่ยมชม ประชุม หรือแลกเปลี่ยนที่จุฬาฯ โดยจะมีการอบรม การพูดในที่สาธารณะ มารยาทสากล การวางตัว ก่อนที่จะสามารถทำหน้าที่นี้ได้ เป็นกิจกรรมที่สนุกมาก เพราะเราได้พบปะ เพื่อนชาวต่างชาติ และฝึกการทำงานกับผู้คนจากหลากหลายประเทศ หลากหลายวัฒนธรรม
Career path – เส้นทางอาชีพ ของเด็กที่เรียน BALAC CU “จบไปทำอะไรดีนะ?”
หลายคนคงสงสัยว่า จบไปแล้วทำงานอะไรได้บ้าง เนื่องจากหลักสูตรที่เราเรียนไม่ได้เป็นวิชาชีพอย่าง แพทย์ศาสตร์ นิติศาสตร์ หรือ วิศวกรรมศาสตร์ แต่ต้องขอบอกว่า BALAC จุฬา ของเราก็ไปได้หลายสายเหมือนกันนะ เพราะความรู้ในหลักสูตรนี้ สามารถนำไปต่อยอดได้ในหลาย ๆ สายไม่ว่าจะเป็น ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศ เช่น United Nations (UN) หรือ กระทรวงการต่างประเทศ หรือจะเป็นสายงานทรัพยากรบุคคล (HR) ก็ทำได้เช่นกัน นอกจากนั้น หลายคนยังสามารถเบนสายไปทำงานด้านการตลาด งานประสานงาน ในบริษัทต่าง ๆ ได้ด้วย
การฝึกงาน เป็นโอกาสในการค้นหาตัวเอง ว่าเราอยากทำงานอะไรในอนาคต ซึ่งถึงแม้ BALAC จะไม่บังคับให้นิสิตฝึกงาน นิสิตส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไปฝึกงานช่วงปิดเทอมปี 3 ขึ้น ปี 4 เพื่อค้นหาตัวเองกัน อย่างในเพื่อน ๆ ในรุ่นพี่พริ้ม ก็ฝึกงานกันหลากหลายมากเลย ไม่ว่าจะเป็น Website แฟชั่น HR ในบริษัทต่างชาติ สถานทูตและกงสุลทั้งในไทยและต่างประเทศ หรือกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งทางคณะ และอาจารย์ที่ปรึกษายังได้ช่วยเหลือ แนะนำที่ฝึกงานให้นิสิตด้วย
สำหรับพี่พริ้ม ได้ทำการสอบ ทุนรัฐบาลเพื่อดึงดูดผู้มีศักยภาพสูง (Undergraduate Intelligence Scholarship) หรือที่เรียกกันว่า ทุน UiS โดยผู้รับทุนจะได้ทุน 2 ระยะคือ ทุนศึกษาสำหรับชั้นปีที่ 4 และ ระยะที่ 2 เป็นทุนเพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาโทในหรือต่างประเทศ โดยทุนนี้จะสามารถสอบได้ตอนเรากำลังศึกษาอยู่ชั้นปีก่อนปีสุดท้าย (สำหรับ BALAC ก็คือปี 3) ซึ่งหลังจากพี่พริ้มได้สอบผ่านรอบแรก (ข้อเขียน) แล้ว จึงได้ไปฝึกงานกับหน่วยทุนที่เราได้สมัครเอาไว้ซึ่งเป็นขั้นตอนหนึ่งในการคัดเลือกผู้ที่ได้รับทุน และได้เป็นผู้รับทุน UiS ประจำปี 62 แล้ว ทุนเหล่านี้ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจที่น้อง ๆ สามารถเลือกได้
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://uis.ocsc.go.th/Main/FrmAnnounce.aspx?TestTypeId=iep%2frNIfLH0%3d&Year=ZQSbfyYV%2bcE%3d&PeriodNo=iep%2frNIfLH0%3d
เทคนิคการเรียนให้ได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง
สำหรับเทคนิคของพี่พริ้ม ในการเรียนให้ได้เกรดดี คือ “ตั้งใจ ทบทวน และสอบถาม” อย่างแรกเลยคือเราต้องมีจุดมุ่งหมายว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร มี Passion ในการเรียน อยากได้เกรดเท่าไหร่ และตั้งใจทำเป้าหมายนั้นให้สำเร็จอย่างแน่วแน่ โดยสิ่งที่เราต้องมีเลยคือ วินัย ในการตั้งใจเรียนในห้อง เข้าห้องเรียนให้ครบ เพราะวิชาส่วนใหญ่ใน หลักสูตร มีคะแนน Participation ซึ่งไม่ใช่แค่การเข้าห้องเรียนอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึง การมีส่วนร่วมพูดคุย discussion และตอบคำถามในห้องด้วย พยายามทำความเข้าใจบทเรียนในห้อง ตั้งใจฟังอาจารย์ เพราะสิ่งที่อาจารย์เน้นก็คือสิ่งที่จะออกสอบนั่นเอง! หลังจากเรียนแล้ว เราก็ต้องกลับมาอ่านทบทวนด้วย ซึ่งเทคนิคที่พี่พริ้มใช้ก็คือ การอ่านและทำสรุป short note เป็นของตัวเองในภาษาที่เข้าใจง่ายและกระชับกว่าอ่านเป็น 100 หน้าในหนังสือ โดยจะทำสรุป short note ในหลังการเรียนในทุก ๆ สัปดาห์ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาอัดก่อนสอบ เมื่อใกล้สอบเราก็จะสามารถอ่านและท่องจาก short note ได้เลย สำหรับวิชาที่ไม่มีสอบ อาจารย์ก็จะสั่งให้ทำรายงาน หรือวิจัย ซึ่งวิธีที่พี่พริ้มทำคืออ่านข้อมูลเยอะ ๆ วิเคราะห์ และเขียนให้น่าสนใจและอ่านเข้าใจง่าย ที่สำคัญ ต้องส่งงานตรงเวลานะคะ! นอกจากนี้ อีกเทคนิคของพี่พริ้มคือการสอบถาม คือ เมื่อเรามีคำถามอะไร อย่าอายที่จะถาม สามารถถามเพื่อน หรือรุ่นพี่ได้ ว่าในแต่ละวิชาแนวข้อสอบเป็นยังไง อาจารย์ชอบการเขียนแนวไหน เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนให้เรา หรือถ้าเราไม่เข้าใจบทเรียน ก็ถามอาจารย์ได้เลย อาจารย์ทุกคนใจดี และพร้อมที่จะอธิบายให้เราเข้าใจได้
ถึงน้องๆ ที่อยากเข้า BALAC
อยากบอกว่าการเรียน 4 ปีในหลักสูตรนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีมาก ๆ เลย สำหรับพี่พริ้ม ได้เรียนในสิ่งที่น่าสนใจ มีวิชาหลากหลายที่สามารถเป็นพื้นฐานที่ดี สามารถต่อยอดได้ในอนาคต ได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งมาก ๆ และพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ให้เราอย่างเต็มเปี่ยม มีกิจกรรมนอกห้องเรียนมากมายที่สามารถพัฒนาตัวเราได้ ดังนั้น อย่าเพิ่งกังวลว่าเราจะเรียนได้ไหม ถ้า BALAC เป็นสิ่งที่น้องชอบและสนใจ ก็ลุยเลยค่ะ! มาเป็นรุ่นน้องพี่พริ้มกันนะคะ 😀
สรุป
BALAC (Bachelor of Arts in Language and Culture) คือ คณะอักษรศาสตร์ สาขาภาษาและวัฒนธรรม (นานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิชาเด็ดด่านยากใน 4 ปีมีอะไรบ้าง
ปี 1 : วิชาการใช้เหตุผลหรือ Reasoning จะได้เรียนเกี่ยวกับการใช้เหตุผลและการคิดวิเคราะห์
ปี 2 : วิชา อารยธรรมตะวันออก (Eastern Civilization) และ อารยธรรมตะวันตก (Western Civilization) เรียนเชื่อมโยงไปถึงพื้นฐานวัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจและอื่นๆ
ปี 3 : วิชาโทภาษาที่ 3 ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจสูงเพราะต้องนำมาใช้ให้ได้จริงด้วย
ปี 4 : เก็บวิชาเอกให้ครบ (เราสามารถเลือกวิชาได้)
BALAC ไม่ได้เรียนอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมให้ทำเพียบได้แก่
● รับน้องของคณะ (BALAC Trip)
● รับน้องของมหาวิทยาลัย
● แข่งกีฬา Freshy Game
● แข่งกีฬา Inter games
● กิจกรรมทูตสันถวไมตรี (CU Goodwill Ambassadors)
เส้นทางอาชีพของเด็กที่จบ BALAC จุฬา
● คณะ BALAC อักษรฯ อินเตอร์สามารถทำไปต่อยอดได้หลายสายเช่น
● องค์กรระหว่างประเทศ
● กระทรวงการต่างประเทศ
● สายงานทรัพยากรบุคคล (HR)
● งานด้านการตลาด
● งานประสานงาน
ทริคการเรียนให้ได้เกียรตินิยมอับดับ 1 เหรียญทองของพี่พริ้ม
“ตั้งใจ ทบทวน และ สอบถาม” แบ่งออกเป็น action ย่อยๆ ดังนี้
● กำหนดจุดมุ่งหมายว่าเราจะทำไปเพื่ออะไร
● มีวินัยในการตั้งใจเรียนในห้องเรียน
● หลังจากเรียนก็ต้องกลับมาทบทวน ทำสรุป Short note
● ถ้าไม่เข้าใจในบทเรียนก็ให้สอบถามอาจารย์