เจาะลึกคณะ BJM วารสารศาสตร์ อินเตอร์ ธรรมศาสตร์ !!!

Table of Contents

B.J.M. คณะวารสารศาสตร์ฯ อินเตอร์ ธรรมศาสตร์ หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Bachelor of Arts Program in Journalism (Mass Media Studies) ก่อตั้งขึ้นโดยคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถือเป็นคณะทางด้านวารสารศาสตร์ฯ แห่งแรกของประเทศไทย การเรียนการสอนของ B.J.M. จะเน้นทั้งแนวคิด ทฤษฎี และที่สำคัญคือการฝึกภาคปฏิบัติในห้องปฏิบัติการที่ทันสมัย เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความสามารถด้านสื่อสารมวลชน มีความคิดริเริ่ม วิสัยทัศน์ และมีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษาทุกคนค่ะ

คณะนี้เรียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

เรียนเกี่ยวกับการสื่อสารเหมือนนิเทศศาสตร์ทุกอย่างแต่เพิ่มเรื่องการเขียนข่าวและสื่อสารมวลชน B.J.M จะเรียนพื้นฐานเกี่ยวกับสื่อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรืออฟไลน์ เรียนเกี่ยวกับการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ เรียนเรื่องการตลาด เรียกได้ว่าให้ความรู้ทั้งในเชิงการผลิตและการบริหารสื่อ น้องๆ จะได้เรียนรู้ทั้งการเป็นเบื้องหน้าและเบื้องหลังของวงการสื่อสารมวลชน โดยคณะนี้จะไม่มีเอกให้เลือกเหมือนกับวารสารศาสตร์ภาคไทย

ต่างจากภาคไทยอย่างไร

สิ่งแรกที่ต่างกันคือ B.J.M. จะเรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด อีกส่วนหนึ่งที่แตกต่างกันคือคณะวารสารศาสตร์ฯ ภาคภาษาไทย ซึ่งจะแบ่งเป็น 6 เอกด้วยกัน แต่ B.J.M.จะเน้นผลิตนักการสื่อสารที่มีทักษะการบูรณาการด้านวารสารศาสตร์ มีความคิดสร้างสรรค์เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร โดยในปีที่ 1 และ 2 น้องๆจะได้เรียนวิชาพื้นฐานทางด้านสื่อสารมวลชนทั้งหมด ส่วนพอขึ้นปี 3 น้องๆจะสามารถเลือกวิชาเรียนตามความถนัดและความสนใจของแต่ละคนค่ะ โดยเราจะแบ่งออกเป็น 2 track ด้วยกัน คือ Journalism สำหรับน้องๆ ที่มีความสนใจด้านงานข่าวทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง รวมถึงผู้สนใจทางด้านงานเขียน นิตยสาร สิ่งพิมพ์ และหนังสือพิมพ์ อีก track นึงคือ strategic communication สำหรับน้องๆที่สนใจด้านการวางแผนกลยุทธ์สื่อ อยากทำงานเอเจนซี่โฆษณา งาน PR, Media Planner รวมถึงบริษัทข้ามชาติต่างๆที่ต้องการนักการสื่อสารที่มีทักษะภาษาอังกฤษ

คณะนี้เรียนที่ไหน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ค่าเทอมเท่าไหร่

134,000 บาท/ปีการศึกษา (โดยประมาณ)

เรียนจบแล้วทำงานอะไร

ถ้าอิงจากสถิติของศิษย์เก่าที่จบมากว่า 10 รุ่น รุ่นพี่ที่จบไปทำงานหลากหลายมากไม่ว่าจะเป็นทางด้านสายข่าวทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง ผู้ประกาศข่าว นักข่าว คอลัมนิสต์ ช่างภาพ หรือจะเป็นทางด้านโฆษณา ก็มีรุ่นพี่ทำงานอยู่เอเจนซี่ชื่อดัง รวมถึงบริษัทข้ามชาติชั้นนำต่างๆ อาชีพที่จบมาตรงสายที่สุดคือ นักข่าว หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสาร รองลงมาก็เป็นอาชีพที่เกี่ยวกับการเขียนหรือการสื่อสารต่างๆ เช่น นักเขียน หรือ PR (นักประชาสัมพันธ์) เนื่องจาก B.J.M เป็นคณะที่เรียนค่อนข้างกว้าง ฉะนั้นศิษย์ที่จบมาจึงสามารถทำงานอื่นๆ ได้อย่างหลากหลายเช่น Marketing, AE, Sales, Creative, Production House และอื่นๆ อีกมากมาย

อยากไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ

สำหรับน้องๆที่สนใจไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศ คณะวารสารศาสตร์ฯ ก็มีการเซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนนศ.กับหลากหลายประเทศด้วยกันค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมัน เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ซึ่งข้อดีของการไปแลกเปลี่ยนภายใต้สัญญาของคณะ คือคณะที่น้องๆไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศจะเป็นคณะทางด้านวารสารศาสตร์ฯ และถ้าน้องๆเลือกเรียนวิชาที่ใกล้เคียงกันกับวิชาของคณะ ก็สามารถนำมาเทียบโอนวิชาได้ค่ะ ซึ่งนอกจากเราจะไปแลกเปลี่ยนในต่างประเทศได้แล้ว ในแต่ละปีก็มีจะนศ.จากต่างประเทศเข้ามาแลกเปลี่ยนและเรียนกับเราค่ะ อย่างปีนี้ก็มีมา 10 กว่าคนทั้งจากอเมริกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย

จบแล้วเรียนต่ออะไรได้บ้าง

ส่วนใหญ่แล้วศิษย์เก่ามักจะเรียนต่อปริญญาโททางด้านการตลาด หรือ บริหารธุรกิจ ในมหาวิทยาลัยชื่อดังทั้งในไทยและต่างประเทศ

Admission Requirement

รอบ Portfolio 1 (บางปีก็ไม่มีรอบ Portfolio)

คุณสมบัติผู้มีสิทธิสมัคร

1. กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า
2. มีผลการเรียนเฉลี่ยระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า (เช่น GCE, GCSE, IGCSE, IB และ GED) รวมกันอย่างน้อย 4 ภาคการศึกษา ในระดับ 3.0 ขึ้นไป
3. มีผลการสอบอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ซึ่งมีอายุไม่เกิน 2 ปี นับจนถึงวันที่ยื่นใบสมัคร

● ผลคะแนนรวมการสอบ IELTS ระดับ 6.5 ขึ้นไป หรือ
● ผลคะแนนรวมการสอบ TOEFL iBT (internet-based test) 80 คะแนนขึ้นไป หรือ
● ผลการสอบ TU-GET 550 คะแนนขึ้นไป
เกณฑ์การคัดเลือก

ผลงาน Portfolio และ คะแนนสัมภาษณ์

รอบรับตรงร่วม

ยื่น Requirement หลักมีอะไรบ้าง

1. จบการศึกษาม.ปลาย GPA 2.5 ขึ้นไป
2. มีผลคะแนนภาษาอังกฤษ ให้เลือกยื่นตัวใดตัวหนึ่ง ต่อไปนี้ค่ะ

● SAT ขั้นต่ำ 1,100 คะแนน (รวม

3 ส่วน Math, Reading, และ Writing)

● SAT (New SAT) ขั้นต่ำ 400 คะแนน (เฉพาะส่วน Evidence-Based Reading and Writing)
● TOEFL Internet Based Test (IBT) 61 คะแนน
● IELTS ขั้นต่ำ 5.5 คะแนน
● TU-GET ขั้นต่ำ 500 คะแนน

สอบข้อเขียนเกี่ยวกับอะไร

ข้อเขียนของทางคณะจะแบ่งออกเป็น 2 ข้อด้วยกัน โดยข้อแรกจะเกี่ยวกับเนื้อหาพื้นฐานของสื่อสารมวลชล น้องๆจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับหน้าที่ของสื่อที่ส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆ ของประเทศไม่ว่าจะเป็นสังคม หรือ เศรษฐกิจ รู้เกี่ยวกับจรรยาบรรณและศีลธรรมของสื่อ เป็นต้น ข้อที่สองจะเป็นคำถามเกี่ยวกับข่าวและสถานการณ์ในปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ นอกจากน้องๆ จะต้องเป็นติดตามข่าวสารและมีความรู้รอบตัวเกี่ยวกับการใช้สื่อหรือหน้าที่ของสื่อแล้ว น้องๆ จำเป็นต้องฝึกทักษะการเขียนเรียงความภาษาอังกฤษให้ถูกหลักไวยกรณ์พื้นฐานอีกด้วย

การเตรียมตัวข้อเขียน

น้องๆ ควรหมั่นติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในทุกแง่มุม และ ข่าวเหตุการณ์ปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนคลังความรู้รอบตัว และทักษะการคิดวิเคราะห์ ศึกษาทฤษฎีสื่อสารมวลชนเบื้องต้น ข้อสอบไม่มีผิดถูก แต่เน้นทดสอบความสามารถในการคิดวิเคราะห์สถานการณ์อย่างมีหลักเกณฑ์ นอกจากนี้ สามารถฝึกทักษะภาษาอังกฤษของตนเอง โดยเฉพาะทักษะการอ่านและเขียน แนะนำให้ฝึกอ่านข่าวภาษาอังกฤษทุกวัน และ ฝึกวิธีการเขียน essay ให้ถูกหลัก