ทุกคนคงเคยได้ยินชื่อข้อสอบ TU-GET และ CU-TEP กันโดยเฉพาะน้องๆคนที่จะสอบเข้าภาคอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเนื่องจากข้อสอบทั้งสองชุดนี้เป็นข้อสอบวัดระดับในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาซึ่งถูกผลิตโดยแต่ละมหาวิทยาลัยตามลำดับ
นอกจากนั้นข้อสอบทั้งสองข้อสอบนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับน้องๆที่อยากเข้ามหาวิยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพราะสองข้อสอบนี้ ในบางคณะจะสามารถใช้ยื่นแทนคะแนน SAT Verbal ได้ แต่น้องๆ อาจจะสงสัยว่าข้อสอบสองชุดนี้แตกต่างกันอย่างไร วันนี้พี่จะพาน้องๆ มาทำความรู้จักกับข้อสอบสองชุดนี้กันค่ะ
ข้อสอบ TU-GET
TU-GET ย่อมาจาก Thammasart University Graduate English Test ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารทางภาษาอังกฤษที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งถูกใช้เพื่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลักสูตรนานาชาติโดยตรง
ข้อสอบชุดนี้ จะมีทั้งในรูปแบบของ Paper Based Test (PBT) หรือการทำข้อสอบในชุดเล่มหรือกระดาษและ Computer Based Test (CBT) ซึ่งเป็นการสอบผ่านคอมพิวเตอร์ โดยคะแนนที่คณะส่วนมากใช้เป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกนักศึกษาคือ TU-GET แบบ Paper Based Test
ข้อสอบ TU-GET แบบ Paper Based Test จะถูกแบ่งออกเป็น 3 พาร์ทหลักๆ ซึ่งคือ
1. Grammar 25 ข้อ (250 คะแนน) ที่จะมีทั้งการเติมประโยคให้สมบูรณ์และการเลือกหรือชี้จุดที่ผิดไวยากรณ์จากประโยคที่ได้รับ
2. Vocabulary 25 ข้อ (250 คะแนน) ประกอบด้วยการเติมคำในช่องว่างให้สมบูรณ์จากตัวเลือกที่มีให้และการเลือกคำที่ความหมายใกล้เคียงกับคำที่ถูกขีดเส้นใต้
3. Reading 50 ข้อ (500 คะแนน) ซึ่งพาร์ทนี้จะเป็นการวัดทักษะการอ่านหลายๆด้วย เช่น การหาใจความสำคัญหรือ main idea ของบทความ การหาและตีความข้อมูลจากบทความที่ได้รับและการสรุปบทความหรือการทำ conclusion เป็นต้น
รวมเป็น 1,000 คะแนน
ขอบเขตของคะแนนแบบ Paper Based Test ที่คณะอินเตอร์ส่วนมากของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ คือ ตั้งแต่ 500 คะแนน เช่น คณะวารสารอินเตอร์ (BJM) และคณะรัฐศาสตร์อินเตอร์ (BIR) ไปจนถึง 550 คะแนน เช่น คณะบริหารธุรกิจบัณฑิตอินเตอร์ (BBA) เป็นต้น
ข้อสอบ TU-GET แบบ Computer Based Test จะถูกแบ่งออกเป็น 4 พาร์ทหลักๆ คือ
1. Reading 40 ข้อ (30 คะแนน) ที่น้องๆจะต้องอ่าน 3-4 บทความ เพื่อตอบคำถามวัดระดับทักษะการอ่านต่างๆ ซึ่งค่อนข้างคล้ายกับ TU-GET แบบ PBT
2. Listening 40 ข้อ (30 คะแนน) ประกอบด้วยการฟังประมาณ 4-5 เรื่องโดยที่จะมีเวลาระบุไว้ให้ มีความยาวตั้งแต่ 2-5 นาที ที่มีทั้งบทสนทนาของคนสองคนและการฟังเลคเชอร์เพื่อจับใจความและตอบคำถาม
3. Speaking 1 ข้อ (30 คะแนน) ในพาร์ทนี้น้องๆจะต้องพูดทั้งหมด 10 นาที โดยที่จะเป็นการแสดงความคิดเห็นจากหัวข้อที่ได้รับและน้องๆสามารถฟังสิ่งที่น้องๆพูดซ้ำได้
4. Writing 1 ข้อ (30 คะแนน) 40 นาที ซึ่งพาร์ทนี้น้องๆจะได้รับโจทย์และพิมพ์ตอบคำถามในเชิงแสดงความคิดเห็น จำกัดจำนวนคำที่ 350 คำ
รวมเป็น 120 คะแนน
ขอบเขตของคะแนนแบบ Computer Based Test ที่คณะอินเตอร์ส่วนมากของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ คือ ตั้งแต่ 61 คะแนน เช่น คณะรัฐศาสตร์อินเตอร์ (BIR) ไปจนถึง 90 คะแนน เช่น คณะเศรษฐศาสตร์อินเตอร์ (BE) เป็นต้น
ถ้าน้องๆ สนใจที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตรงและจะสอบ TU-GET เพื่อใช้ยื่น ผลของการสอบวัดระดับภาษาตัวนี้ก็มีความสำคัญอย่างมาก ถึงแม้แต่ละคณะจะตั้งเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปโดยที่บางคณะอาจให้น้ำหนักกับข้อสอบวัดระดับค่อนข้างสูง ในขณะที่บางคณะใช้ข้อสอบนี้เป็นแค่เกณฑ์เบื้องต้นในการคัดเลือกนักศึกษา
การสมัครสอบ TU GET
การสมัครสอบของ TU-GET จะถูกจัดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง ซึ่งน้องๆสามารถเช็คตารางของการสอบ ลงทะเบียน และสมัครสอบได้ที่ litu.tu.ac.th ดังนั้นน้องๆก็มีโอกาสถึง 12 ครั้งที่จะสอบใน 1 ปี
ค่าสอบจะอยู่ที่ 700 บาทสำหรับแบบ Paper Based Test และ 1,000 บาทสำหรับแบบ Computer Based Test ถ้าสมัครสอบวันที่ 16-30 หรือ 31 ของทุกเดือน และ1,500 บาท ถ้าสมัครสอบวันที่ 1 เป็นต้นไป ถึงวันที่สอบ แต่ถ้าใครเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็จะสามารถสมัครสอบได้ในราคา 40 บาท
เช่นเดียวกับข้อสอบวัดระดับภาษาอื่นๆ น้องๆสามารถเตรียมตัวโดยการหาข้อสอบตัวอย่างซึ่งหาได้ในอินเตอร์เน็ตทั่วไปและฝึกทำข้อสอบ ถ้าน้องๆสนใจสมัครสอบ TU-GET ที่เป็นการสอบแบบ Computer Based Test จะมีการสอบ writing และ speaking ร่วมด้วย ซึ่งน้องๆหารูบิคในการสอบนี้ได้ทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือhttp://public.litu.tu.ac.th/view/post/37/566
ผลการสอบที่เราได้รับจะมีอายุทั้งหมด 2 ปีนับจากวันที่สอบเหมือนกับข้อสอบวัดระดับภาษาอื่นๆ เช่นเดียวกับ SAT Verbal และ IELTS
ข้อสอบ CU TEP
CU-TEP ย่อมาจาก Chulalongkorn University Test of English Proficiency เป็นการทดสอบวัดระดับในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาจัดทำโดย สถาบันภาษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยส่วนมากจะสำหรับใช้ในการยื่นเพื่อสมัครภาคอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยโดยตรง
ข้อสอบ CU-TEP จะมีแค่การสอบแบบ Paper Based Test ต่างจาก TU-GET
ข้อสอบชุดนี้จะถูกแบ่งออกเป็น 3 พาร์ทหลักๆ เช่นเดียวกัน คือ
1. Listening 30 ข้อ 30 นาที โดยที่พาร์ทของการสอบฟังจะมีทั้งการฟังบทความทางวิชาการ การพูดคุยของบุคคลในช่วงเวลาสั้นๆและการสนทนาแบบยาวซึ่งน้องๆจะมีโอกาสฟังแค่หนึ่งรอบเท่านั้นเพื่อจับใจความและตอบคำถาม
2. Reading 60 ข้อ 70 นาที ซึ่งจะเน้นไปที่การจับใจความสำคัญและการอ่านเพื่อความเข้าใจ พาร์ทนี้จะมีบทความให้น้องๆอ่านทั้งหมด 7-8 บทความ ที่มีทั้งบทความสั้นๆและบทความยาวและตอบคำถาม 6-7 ข้อต่อบทความ
3. Writing 30 ข้อ 30 นาที โดยจะแบ่งออกเป็นสองประเภทหลักๆ คือ การหาจุดที่ผิดไวยากรณ์ในรูปประโยคและการเติมคำหรือวลีที่เหมาะสมในช่องว่างที่กำหนด ข้อสอบทั้งหมดนี้จะมีคะแนนข้อละ 1 คะแนน
รวมเป็น 120 คะแนน
ขอบเขตของคะแนน CU-TEP ที่คณะอินเตอร์ส่วนมากของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ใช้เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำในการยื่นคะแนน คือ ตั้งแต่ 80 คะแนน เช่น คณะวิศวกรรมอินเตอร์หรือ ISE ไปจนถึง 101 คะแนน เช่น คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีอินเตอร์หรือ BBA เป็นต้น
ถ้าน้องๆ สนใจที่จะสอบเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยตรงและจะสอบ CU-TEP เพื่อใช้ยื่น ผลของการสอบวัดระดับภาษาตัวนี้ก็มีความสำคัญอย่างมาก ถึงแม้แต่ละคณะจะตั้งเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปโดยที่บางคณะอาจให้น้ำหนักกับข้อสอบวัดระดับค่อนข้างสูง ในขณะที่บางคณะใช้ข้อสอบนี้เป็นแค่เกณฑ์เบื้องต้นในการคัดเลือกนักศึกษา
การสมัครสอบ CU TEP
การสมัครสอบของ CU-TEP จะถูกจัดขึ้นเดือนละ 1-2 ครั้ง ซึ่งน้องๆสามารถ ติดตามข่าวสาร เช็คตารางของการสอบ ลงทะเบียน และสมัครสอบได้ที่ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดังนั้นน้องๆก็มีโอกาสเกิน 12 ครั้งที่จะสอบใน 1 ปี และค่าสอบแต่ละครั้งจะอยู่ที่ 900 บาท
ผลการสอบของ CU-TEP ที่เราได้รับจะมีอายุทั้งหมด 2 ปีนับจากวันที่สอบ
สรุปง่ายๆ เลยก็คือ โดยทั่วไปแล้วคะแนนภาษาอังกฤษที่น้องๆจำเป็นต้องยื่นเพื่อเข้าหลักสูตรอินเตอร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น นอกจากตัวเลือกข้อสอบที่เป็น SAT Verbal, IELTS หรือ TOEFL แล้ว ก็จะมีข้อสอบ TU-GET และ CU-TEP เป็นทางเลือกเสริมในการทดสอบ ตามมหาวิทยาลัย ตามลำดับ และหากน้องๆไม่แน่ใจว่าควรใช้คะแนนสอบไหนดี หรือไม่มีประสบการณ์ในการสอบวัดผลด้านภาษาอังกฤษเลย พี่ก็อยากแนะนำให้น้องๆ ลองฝึกฝน แล้วเริ่มทดลองสนามสอบกับข้อสอบ TU-GET หรือ CU-TEP ก่อนได้เลยค่ะ